วันเสาร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2555

ทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยงของธอร์นไดค์

ทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยงของธอร์นไดค์ (Thorndike) (Connectionism Theory หรือ Bond Theory หรือ S - R Theory)

การทดลองกับแมว
ธอร์นไดค์ (Thorndike) ซึ่งได้กล่าวว่าการเรียนรู้คือ การที่ผู้เรียนสามารถสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยง(Bond)ระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนองและได้รับความพึงพอใจจะทำให้เกิดการเรียนรู้ ธอร์นไดน์เป็นผู้ตั้งทฤษฎีนี้จากการศึกษาลักษณะการเรียนรู้ของสัตว์ (แมวเป็นส่วนใหญ่) ในการเปิดหีบกลเป็นระยะเวลานานและได้ข้อสรุปว่า การเรียนรู้เกิดจากการลองผิดลองถูกโดยเชื่อว่าการเรียนรู้เกิดจากการที่มองเห็นความต่อเนื่องของปัญหา หรือมองเห็นการเชื่อมโยง หรือเกี่ยวข้อง ระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองการเรียนรู้แบบลองผิดลองถูก ผู้เรียนต้องอาศัยเวลาหรือจำนวนครั้งของการลองผิดลองถูกมากเพียงพอ จึงจะนำสู่เป้าหมายที่ต้องการได้สำเร็จ
ซึ่งมีหลักการพอสรุปได้ คือ
1.1 กฎการเรียนรู้
จากการทดลองเกี่ยวกับการเรียนรู้แบบลองผิดลองถูก ธอร์นไดน์ ได้เสนอกฎการเรียนรู้ที่สำคัญ 3 กฎ คือ
1.1.1 กฎแห่งความพร้อม (Law of Readiness)เป็นกฎที่กล่าวถึงสภาพการณ์ 3 สภาพการณ์ คือ
- การกระทำที่เกิดขึ้นจากความพร้อมของร่างกาย ถ้าได้กระทำย่อมจะก่อให้เกิดความพอใจ
เมื่อร่างกายเกิดความพร้อมที่จะกระทำสิ่งใดถ้าไม่ได้กระทำย่อมก่อให้เกิดความไม่พึงพอใจหรือความรำคาญใจ
- เมื่อร่างกายไม่พร้อมที่จะกระทำสิ่งใดแล้ว ถ้าถูกบังคับให้กระทำย่อมจะก่อให้เกิดความไม่พึงพอใจหรือรำคาญใจ
1.1.2 กฎแห่งการฝึกหัด (Law of Exercise)
การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองด้วยการฝึกจะทำให้เกิดความแน่นแฟ้นและมั่นคง แต่ถ้าการฝึกหัดปฏิบัติไม่ต่อเนื่องกัน หรือการไม่ได้นำไปใช้จะทำให้เกิดการลืมได้ ความหมายของกฎแห่งการฝึกอาจสรุปได้ดังนี้
ก. การเชื่อมโยง หรือข้อต่อจะกระชับมั่นคงยิ่งขึ้น ถ้ามีการใช้และจะเสื่อมลงหรืออ่อนลง (Weakness of Connection) เมื่อไม่ได้ใช้
ข. สิ่งใดมีการกระทำซ้ำ ๆ หรือมีการฝึกเสมอ ๆ ผู้ฝึกย่อมกระทำสิ่งนั้นได้ดี สิ่งใดที่ไม่ได้ทำนาน ๆ ย่อมทำสิ่งนั้นไม่ได้เหมือนเดิม
ค. พฤติกรรมใด ๆ ได้มีการกระทำต่อเนื่องกันอยู่ย่อมมีผลให้การกระทำนั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้นถ้าพฤติกรรมใดไม่มีโอกาสได้ใช้หรือเว้นว่างไป หรือไม่ได้กระทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ พฤติกรรมนั้นก็มีแนวโน้มที่จะถูกลืม หรือแม้จะไม่ลืมก็ไม่อาจทำให้ถูกต้องสมบูรณ์ขึ้นได้
1.1.3 กฎแห่งผล หรือกฎแห่งผลตอบสนอง (Law of Effect) กฎนี้กล่าวว่าเมื่อการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองถูกกระทำขึ้น และติดตามด้วยสภาพการณ์ที่ทำให้เกิดความพึงพอใจแล้วความเข้มแข็งของการเชื่อมโยงก็จะแน่นแฟ้นขึ้น แต่ถ้าการเชื่อมโยงนี้ถูกติดตามด้วยสภาพการณ์ที่ทำให้เกิดความรำคาญใจแล้วการเชื่อมโยงจะคลายความแน่นแฟ้นลง ดังนั้นสภาพ ที่ทำให้เกิดความพึงพอใจ จึงเป็นที่มนุษย์หรือสัตว์ไม่พยายามหลีกเลี่ยง จะพยายามรักษาสถานภาพนั้นไว้ หรือทำให้เกิดขึ้นมาใหม่ แต่สภาพใดที่ทำให้เกิดความรำคาญใจ เขาจะพยายามหาทางหลีกเลี่ยง ไม่อยากได้และต้องการให้สถานภาพนั้นสิ้นสุดโดยเร็ว

1.2 ข้อสรุปเกี่ยวกับการเรียนรู้
1.2.1 จากกฎแห่งความพร้อม ในปัจจุบันความพร้อม หมายถึง ผู้เรียนมีความเจริญพร้อมทั้งทางกายใจ มีการปรับตัวเตรียมพร้อมมีความตั้งใจ ความสนใจ และมีทัศนคติอันจะก่อให้เกิดการกระทำขึ้นภาวะที่สมบูรณ์คือการมีวุฒิภาวะ ดังนั้นก่อนที่ผู้สอนจะสอนจะต้องสำรวจและศึกษาความพร้อมของผู้เรียนเตรียมผู้เรียนให้พร้อมก่อนให้การศึกษาจัดบทเรียนสนองต่อความต้องการของผู้เรียน สอดคล้องกับวุฒิภาวะของผู้เรียน
1.2.2 จากกฎแห่งการฝึกหัด หลักการสำคัญของการฝึกมีดังนี้
- การฝึกให้กระทำซ้ำสิ่งเดียวกันในสถานการณ์ที่ต่างกัน การกระทำซ้ำซากในสิ่งเดียวกัน เหมือน ๆ กัน จะทำให้เกิดความเหนื่อยอ่อน รู้สึกขุ่นเคือง และอารมณ์เสีย ดังนั้นในการฝึกเรื่องใดเรื่องหนึ่งควรจะต้องทำแบบฝึกหลาย ๆ แบบ
- ระยะเวลาของการฝึกขึ้นอยู่กับความยากง่ายของงาน และสำหรับการฝึกงานทักษะ การฝึกที่มีการพักสลับกันไป ผู้เรียนจะได้มีเวลาวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ผลกของการฝึกก่อนที่จะลงมือฝึกต่อไป ส่วนงานที่เป็นงานสร้างสรรค์ การฝึกติดต่อกันไปโดยไม่หยุดจะมีผลดีกว่า เพราะจะทำให้ความคิดต่อเนื่องกันไป

- ทุกครั้งที่ผู้เรียนตอบสนองได้ถูกต้อง จะต้องให้รางวัล หรือให้สิ่งที่ทำความพอใจแก่ผู้เรียน การฝึกจะมีผลสมบูรณ์หากผู้กระทำนั้นรู้วัตถุประสงค์และมองเห็นคุณค่าและประโยชน์ของสิ่งที่กระทำนั้นด้วย พร้อมทั้งมีความสนใจและตั้งใจอีกด้วยดังนั้นก่อนการฝึกจะต้องสร้างความอยากที่จะฝึกเพื่อให้ผู้เรียนสามารถฝึกซ้ำ ๆ ฝึกหลายๆ ครั้ง หรือสามารถเรียนเกินขีด (Over Learning) ได้โดยไม่เหนื่อยหน่าย
1.2.3 จากกฎแห่งผลตอบสนองธอร์นไดน์ โดยอธิบายความสำคัญของกฎแห่งผลได้โดยเชื่อมโยงรางวัลกับความสำเร็จ การลงโทษกับความล้มเหลว แนวโน้มของพฤติกรรมมนุษย์มีดังต่อไปนี้
- คนจะเรียนได้ดี ถ้าผลตอบสนองของการเรียนนั้นทำให้ผู้เรียนพอใจ และคนเราจะเรียนเลวลงถ้าผลการเรียนนั้นทำให้ผู้เรียนรำคาญใจ รางวัลและความสำเร็จจะช่วยส่งเสริมการแสดงพฤติกรรมมากขึ้นและขจัดสิ่งรบกวนออกไปแต่การทำโทษและความล้มเหลวจะลดการกระทำนั้นลงถ้าจะให้เรียนรู้บางอย่าง จะต้องมีรางวัลให้เมื่อผู้เรียนแสดงพฤติกรรมที่ต้องการ
- ถ้าต้องการจะให้พฤติกรรมบางอย่างหายไป เมื่อผู้เรียนแสดงพฤติกรรมนั้นจะต้องมีการทำโทษการเรียนรู้ขึ้นอยู่กับผลของพฤติกรรมถ้าแสดงพฤติกรรมแล้วนำมาซึ่งความพึงพอใจพฤติกรรมอันนั้นจะถูกเก็บไว้ แต่ถ้าทำแล้วนำมาซึ่งความไม่พึงพอใจ พฤติกรรมอันนั้นจะถูกขจัดทิ้งไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น